สถานีสนามไชย สวยงามดุจท้องพระโรง
สถานีสนามไชย (อังกฤษ: Sanam Chai Station) เป็นโครงการสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ในเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค ซึ่งโครงการยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเป็นสถานีในระบบใต้ดินที่อยู่ใจกลางพื้นที่อนุรักษ์เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ในแนวถนนสนามไชย กรุงเทพมหานคร บริเวณวัดพระเชตุพนฯ เป็นส่วนต่อขยายของเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินจากสถานีหัวลำโพง ผ่านพื้นที่เมืองเก่าย่านวัดมังกรกมลาวาส, วังบูรพา ก่อนลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด ไปยังฝั่งธนบุรี และยกระดับขึ้นสู่สถานีท่าพระต่อไป
ที่ตั้ง
ถนนสนามไชย ด้านทิศเหนือของแยกสะพานเจริญรัช 31 หรือปากคลองตลาด (จุดบรรจบถนนสนามไชย, ถนนมหาราช, ถนนราชินี, ถนนอัษฎางค์ และถนนจักรเพชร) บริเวณด้านหน้าโรงเรียนวัดราชบพิธ, มิวเซียมสยาม และด้านหลังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในพื้นที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้งของสถานีสนามไชยเป็นสถานีแห่งเดียวในโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร ที่มีตัวสถานีอยู่ใจกลางพื้นที่ชั้นในของเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในขอบเขตระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองคูเมืองเดิม (นอกเหนือจากสถานีสนามหลวง ของส่วนต่อขยายรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งมีทางเข้า-ออกสถานีที่เชื่อมต่อกับท้องสนามหลวงอยู่ในขอบเขตพื้นที่ดังกล่าว) จึงทำให้การวางแผนก่อสร้างเส้นทางและตัวสถานีสนามไชยเป็นที่จับตามองจากคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากหลายฝ่ายกังวลว่าโครงสร้างระบบรถไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อชั้นน้ำใต้ดินและความมั่นคงของโครงสร้างโบราณสถานที่สำคัญใกล้เคียง โดยเฉพาะวัดพระเชตุพนฯ และพระบรมมหาราชวัง นอกจากนี้เพื่อรักษาทัศนียภาพของเมืองและเพื่อลดผลกระทบในระหว่างการก่อสร้าง จึงจำเป็นต้องเลือกวิธีการก่อสร้างเส้นทางแบบไม่เปิดหน้าดิน
การออกแบบ
การออกแบบภายใน มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ออกแบบโดยภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นท้องพระโรงในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการประดับด้วยเสาสดุมภ์ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ระหว่างทางเดิน ลงลายกระเบื้องเป็นดอกพิกุล ปลายเสาประดับด้วยบัวจงกลปิดทองคำเปลว พื้นและผนังจำลองมาจากกำแพงเมือง ประดับด้วยเสาเสมาของพระบรมมหาราชวัง เพดานเป็นลายฉลุแบบดาวล้อมเดือน ปิดทองคำเปลว
อาจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมไทยภายในสถานีสนามไชย กล่าวว่า “ความรู้สึกแรกที่เข้ามาในสถานีแห่งนี้ เสมือนกับผู้โดยสารได้เดินเข้าสู่พระราชวัง หรือท้องพระโรงในสมัยรัตนโกสินทร์ ถ่ายทอดผ่านองค์ประกอบความเป็นไทยอย่างงดงาม เช่น เสาสดุมภ์ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ระหว่างทางเดิน มีองค์และฐานเสาตามทำเนียบของสถาปัตยกรรมไทย ลงลายกระเบื้องเป็นดอกพิกุล ปลายเสาประดับด้วยบัวจงกลปิดทองคำเปลว พื้นและผนังจำลองมาจากกำแพงเมือง ประดับด้วยเสาเสมาของพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับพื้นเพดานที่ตกแต่งด้วยลายไทยอันวิจิตร”
ภายในปีหน้า คนไทยจะได้สัมผัสกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่สวยงามที่สุดในเมืองไทย ภายใต้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งเชื่อมต่อการเดินทางในกรุงเทพฯ ชั้นในทั้ง 4 สถานี ที่โดดเด่น คือ สถานีสนามไชย ออกแบบโดยศิลปินแห่งชาติ จำลองมาจากท้องพระโรงในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นหลังโครงสร้างของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสนามไชย 1 ใน 4 สถานีของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก่อสร้างแล้วเสร็จ งานตกแต่งภายในก็อีกภารกิจสำคัญที่คนงานเหล่านี้กำลังเร่งมือด้วยความปราณีต ให้เสร็จสมบูรณ์ตามแนวคิดการออกแบบที่กลมกลืนกับประวัติและความเป็นมาของการตั้งอยู่ในพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ สถานีนี้ตั้งอยู่ใกล้กับปากคลองตลาด พระบรมมหาราชวัง ถือเป็นสถานีสุดท้ายก่อนลอดแม่น้ำเจ้าพระยาไปอีกฟากฝั่ง
คาดว่าจะพร้อมใช้บริการในปี 2562 โดยบริเวณชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารของสถานีสนามไชยแห่งนี้จะถูกตกแต่งด้วย สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่มีความสวยงามตระการตา ซึ่ง รฟม.เชื่อว่าจะเป็นอีกแลนด์มาร์กสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกมาก
ส่วนเพดานเป็นลายฉลุแบบดาวล้อมเดือน ปิดทองคำเปลว มองเห็นได้เหมือนกับพระบรมมหาราชวัง หรือพระอุโบสถ ที่ช่างหลวง หรือช่างราชสำนักเขาเคยทำไว้ แต่อาจารย์นำมาออกแบบใหม่ ก็จะได้บรรยากาศเป็นไทยที่งดงาม
เมื่อการตกแต่งภายในแล้วเสร็จในเดือนกันยายนปีหน้า สถานีสนามไชยจะเป็นแหล่องท่องเที่ยวด้านสถาปัตยกรรมแห่งใหม่ ที่เชื่อมการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง และมิวเซียมสยาม
สถานีสนามไชย อยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ใกล้พระบรมมหาราชวัง มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก มาใช้บริการที่สถานีนี้แล้ว น่าจะเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว เพราะในอนาคตรถบัสทั้งหลายในบริเวณนั้นจะจอดไม่ได้ น่าจะมาใช้รถไฟฟ้าใต้ดินเป็นหลัก น่าจะเป็นจุดสนใจที่นักท่องเที่ยวมาดู
นอกจากสถานีรถไฟฟ้าสนามไชยแล้ว หัวหน้าแผนกสถาปัตยกรรมภายใน รฟม.บอกว่า รถไฟฟ้าอีก 3 สถานี ก็มีความสวยงามโดดเด่นไม่แพ้กัน เช่น สถานีวัดมังกรกมลาวาส ที่เน้นสถาปัตยกรรมแบบไทยจีน มีหัว และท้องมังกรที่มีลวดลายเกร็ดมังกรบนเพดาน และมีหางมังกรไล่ลำดับกัน เช่นดียวกับสถานีวังบูรพา และสถานีอิสรภาพ ซึ่งได้รับการออกแบบที่สอดคล้องกับบริบทและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ถ่ายทอดเอกลักษณ์ความเป็นไทยสู่สายตานักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มาเยือนเมืองไทย
ข้อมูลจาก wikipedia,สำนักข่าวไทย
ขอบคุณ คลิปจาก cr>Vdo ศุภวิชช์ สงวนเลิศฤทัย