วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง บพิธ คำนี้มาจากภาษาบาลีคือ ปวิธะ ที่แปลว่าสร้าง ส่วน “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่ เป็นมหาสีมาล้อมรอบอาณาเขตของวัด
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารมีสุสานหลวงซึ่งตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักของวัดด้านทิศตะวัน ติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่บรรจุพระอัฐิ (กระดูก) และพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ไว้นั้นเพื่อเป็นพระบรมราชูทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ กันทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม (ศิลปะปรางค์ลพบุรี) และแบบโกธิค โดยตั้งอยู่ในสวนซึ่งมีต้นลั่นทมและพุ่มพรรณไม้ต่างๆ ปลูกไว้อย่างสวยงาม อนุสาวรีย์ที่สำคัญคือ เจดีย์สีทอง 4 องค์ เรียงลำดับจากเหนือไปใต้ ซึ่งมีชื่อสอดคล้องกันดังนี้
- สุนันทานุสาวรีย์ บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ บรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา
- รังษีวัฒนา บรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรส พระราชธิดาอันประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี และพระราชนัดดา เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก รวมทั้งสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วย
- เสาวภาประดิษฐาน บรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรส พระราชธิดาอันประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และพระราชนัดดา เช่น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
- สุขุมาลนฤมิตร์ บรรจุพระสรีรางคารพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระนัดดา
นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์ที่สำคัญอื่นๆ ประดิษฐานอยู่ในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามด้วย เช่น
- อนุสาวรีย์รูปปรางค์ 3 ยอด บรรจุพระสรีรางคารพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา และพระประยูรญาติ พระโอรสและธิดา รวมทั้งสมาชิกสายราชสกุลยุคล
- อนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี บรรจุพระสรีรางคารเจ้าดารารัศมี พระราชชายา และพระราชธิดา
- อนุสาวรีย์เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ หรือ “วิหารน้อย” บรรจุสรีรางคารเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5) และพระธิดา รวมทั้งเจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 และพระโอรส พระธิดา ตลอดจนสมาชิกสายราชสกุลอาภากร และราชสกุลสุริยง
สุสานหลวงในปัจจุบันมีจำนวนอนุสาวรีย์ทั้งหมด 34 องค์ และมีการจัดตั้งกองทุนสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารขึ้นมาดูแลรักษาสุสานหลวงให้มีความงดงามเพื่อชนรุ่นหลังได้เข้าชมต่อไป
โดยภายในวัดแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง
ตัวพระอุโบสถภายนอกสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ ประกอบด้วยลวดลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์รูปเทพประนม(มือ) ภายในเป็นสถาปัตยกรรมโกธิค พระประธานคือ พระพุทธอังคีรส ภายใต้พระประธานมิได้เพียงบรรจุพระสรีรังคารของ ร.๕ เพียงเท่านั้นยังบรรจุพระสรีรังคารของพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ด้วย
การวางตัวของพระอุโบสถกับพระวิหารเป็นแบบวัดพระปฐมเจดีย์ คือวางแนวทิศตรงกันข้าม โดยด้านข้างจะมีทางเข้าไปในรอบ ๆพระเจดีย์ ข้างในพระเจดีย์มีพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่ด้วย ซึ่งเล่ากันมาว่าขุดพบใต้ต้นตะเคียนริมคลองหลอด ซึ่งเชื่อกันว่าคนที่อยากมีลูกมาขอพรก็จะมีลูกสมใจ ภายในพระเจดีย์ยังมีทางขึ้นไปบนฐานเจดีย์ด้วย ในอดีตสามารถมองเห็นภูเขาทองได้ด้วย
ศิลปกรรมที่สำคัญในวัดได้แก่ บานประตู และหน้าต่างของพระอุโบสถที่มีลายไทยลงรักประดับมุก เป็นรูปดวงตราครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ สวยงาม
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม คำว่าสถิตมหาสีมาราม หมายถึงการมีเขตเสมาใหญ่มากล้อมรอบทั้งวัด แทนที่จะมีแค่ เสมารอบ ๆ พระอุโบสถเท่านั้น และที่น่าสนใจอีกอย่างคือกระเบื้องเบ็ญจรงค์ ทั้งพระอุโบสถ วิหารและเจดีย์ ระเบียงแก้ว ล้วนตกแต่งด้วย ลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ทั้งสิ้น และทุกแผ่นเขียนด้วยมือ และออกแบบรูปทรงกระเบื้องขนาดต่างๆ ลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ ไม่ว่าเจดีย์ ระเบียง พระอุโบสถ ซึ่งมีรูปทรงอ่อนช้อย แต่ทุกอย่างลงตัว
เจ้าอาวาส
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อฺมพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
ความสำคัญ : พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และวัดประจำรัชกาลที่ ๕ และ รัชกาลที่ ๗
สังกัดคณะสงฆ์ : ธรรมยุต
แผนที่วัด : คลิ๊กดูแผนที่
ข้อมูลภาษาอังกฤษ : English
เจ้าอาวาส : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณี (อัมพร อฺมพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
ข้อมูลจาก wikipedia.org และ dhammathai.org